ข้อมูลทั่วไปอำเภอเมืองนครนายก
ประวัติความเป็นมา
เมืองนครนายกนี้ ตั้งมาแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานการตรวจสอบ เป็นเมืองเก่าแก่มีความสำคัญ ตั้งแต่ครั้งโบราณการ ปรากฏชื่อเสียงอยู่ในประวัติศาสตร์ของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นเมืองหน้าด่านตะวันออก ระยะทางไปมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ภายใน 2 วัน แม้ในสมัยนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองโภคทรัพย์ของประเทศไทยภาคกลาง มีการติดต่อกรุงเทพได้ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยที่เมืองนี้เป็นเมืองหน้าด่านตามประวัติศาสตร์ กำแพงเมืองยังมีเหลืออยู่เป็นประจักษ์พยาน กำแพงมี 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นกำแพงดิน ชั้นในเป็นกำแพงอิฐ มี 3 ด้าน คือ ด้านตะวันออก ด้านเหนือ และด้านตะวันตก ด้านใต้ไม่มี คงจะถือว่ามีลำน้ำนครนายกกั้นอยู่แล้ว จึงได้สร้างกำแพงด้านนั้น คนโบราณเรียกเมืองนี้ว่าเมืองอกแตก เพราะมีกำแพงเพียง 3 ด้าน เดิมกำแพงคงจะสร้างไว้สูง เพื่อป้องกันข้าศึกในสมัยนั้น และปรากฏตามประวัติศาสตร์ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช (เสวยราชครั้ง-ที่ 1) มีอยู่ตอนหนึ่งว่าพระองค์ทรงปรึกษาว่าเมืองลพบุรี เมืองนครนายก เมืองสุพรรณบุรี 3 เมืองนี้ควรจะร้างเสียหรือเอาไว้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระราเมศวรมหินทราธิราช กับมุขมนตรี พร้อมกันกราบทูลว่าจะให้ปรับหัวเมืองนั้น ถ้ารับได้ก็จะเป็นคุณ ถ้ารับมิได้ ข้าศึกก็จะอาศัยให้รื้อกำแพงเสียดีกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็บัญชา ตามเข้าใจว่ากำแพงเมืองนครนายกคงถูกรื้อในสมัยนั้น และรื้อออกยังไม่หมดยัง เหลืออยู่สูงบ้างต่ำบ้าง เมื่อราว พ.ศ.2452 ซากกำแพงชั้นในยังปรากฏอยู่พอ สังเกตได้ว่าแนวกำแพงเมืองอยู่ตรงไหน ที่มีของคำว่า “นครนายก” นั้น มีผู้ เล่าต่อๆกันมาว่า เมืองนี้ในสมัยโบราณเป็นพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่า ราษฏรอาศัยอยู่ก็มีจำนวนน้อย ข้าวปลาอาหารไม่ค่อยสมบูรณ์ ราษฏรจะทำไร่ไถนาต้อง เสียค่าหางข้าวให้รัฐบาล (ค่านา)
ราษฎรยากจนผลได้รับไม่พอกับที่เสียไป จึงเที่ยวหาแลกจากที่อื่นซึ่งอยู่ห่างไกล ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยนั้น (สมัยใดไม่ปรากฏ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเว้นไม่ต้องเก็บค่าหางข้าวจากชาวนา ทรงอนุญาต ให้ราษฎรทำนาในแถบพื้นที่ตามใจชอบ เมื่อข่าวอันนี้แพร่หลายออกไป ราษฎรชาวเมืองอื่นก็พากันอพยพครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาทำมาหากินในแถบที่ยกค่านานี้ ต่างก็เที่ยวจับจองการสร้างทำนาเป็นอาชีพ ราษฎรจึงพากันเรียกพื้นที่นี้ว่า “เมืองนครนายก” หรือ “นครนายก” เรียกสั้นๆ ว่า ครยก (คอระยก) แม้เดี๋ยวนี้ชาวบ้านคนเก่า ๆ ยังเรียกเมืองนครนายก แต่ผู้เฒ่าบางคนค้านว่าไม่จริง รัฐบาลไม่เคยยกค่านาให้เมืองนี้ เว้นแต่ตำบลเขาใหญ่ในเขตอำเภอปากพลี สมัยนานมาแล้วรัฐบาลเคยยกค่านาให้จริง แต่ผู้ค้านก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นมาอย่างไร อำเภอนี้เดิมเรียกว่า อำเภอวังกระโจม เพราะตัวที่ว่าการตั้งอยู่ที่ตำบลวังกระโจม ริมแม่น้ำนครนายกฝั่งซ้ายระหว่างวัดส้มป่อยกับวัดอินทาราม ตั้งอยู่ช้านานเพียงใดไม่ มีหลักฐานตรวจสอบ ต่อมาราวปี พ.ศ.2439 ทางการจึงจัดการรื้อถอนจากที่เดิมมาตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองริมแม่น้ำนครนายกฝั่งขวา สมัยนั้นพื้นที่ในกำแพงเมืองมีป่าละเมาะ ราษฎรเข้าทำนาปลูกบ้านเป็นหย่อม ๆ บนกำแพงเมืองมีกอไผ่ขึ้นหนาแน่น เจ้าเมืองสมัยนั้นจึงสั่งให้ราษฎรที่อยู่ในกำแพง ย้ายบ้านเรือนออกไปอยู่นอกกำแพง เกณฑ์ราษฎรถากถางต้นไม้ปรับพื้นที่ให้เตียน สร้างสถานที่ราชการขึ้นตัวที่ว่าการอำเภอก็ย้ายไปปลูกใหม่ห่างจากที่เดิมราว 200 เมตร (คือข้างศาลจังหวัดนครนายกด้านตะวันออกปัจจุบัน) ต่อมาที่ว่าการอำเภอชำรุดทรุดโทรมประกอบกับกระทรวงยุติธรรมจะปลูกสร้างศาลจังหวัด ขึ้นใหม่ตรงใกล้ ๆ กับที่ว่าการอำเภอ จึงได้เจรจากับกระทรวงมหาดไทยขอรื้อถอนที่ว่าการอำเภอเมืองนครนายก ในปี พ.ศ.2474 และให้ยืมศาลใช้เป็นที่ว่าการอำเภอเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2494 จึงได้รับงบประมาณให้ก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ ขึ้นใหม่ตามแบบมาตรฐานที่ว่าการอำเภอชั้นตรี สถานที่ปลูกสร้างอยู่ระหว่างเรือนจำจังหวัดนครนายกกับวัดศรีเมือง ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ.2495 สร้างเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2495 เจ้าหน้าที่ได้มา ประจำทำงาน ณ ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2496 ที่มาของคำว่า “วังกระโจม” คนเก่าเล่าต่อกันมาว่าเมื่อนานมาแล้ว มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยน้ำมาจากทางเหนือตามลำน้ำนครนายก แล้วมาวนเวียนอยู่ตรงคุ้งน้ำหน้าศาลเจ้าใกล้กับตลาดวังกระโจมแล้วจมลงที่นั่น ชาวบ้านจึง เรียกหมู่บ้านแถวนั้นว่า “บ้านวังพระจม” ต่อมาชาวบ้านเรียกชื่อนั้นเพี้ยนไปเป็น “บ้านวังกระโจม” ในราวปี พ.ศ.2482 ทางการได้เปลี่ยนนามอำเภอ เป็น”อำเภอเมืองนครนายก” เพราะเป็นอำเภอที่ตั้งจังหวัด ต่อมาเมื่อวัน ที่ 1 มกราคม 2486 ทางการยุบจังหวัดนครนายก โอนการปกครองอำเภอนี้ไปขึ้นจังหวัดปราจีนบุรี จึงเปลี่ยนนามอำเภอเป็นอำเภอนครนายก จนถึงทุกวันนี้
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอองครักษ์ และ อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอปากพลี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอบ้านนา
สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครนายก ตั้งอยู่
ช่องทางในการร้องเรียนที่ประชาชนถึงได้
1.ติดต่อด้วยตนเองที่ศูนย์ร้องเรียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครนายก ถนนศรีเมือง ตำบลเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก 26000 โทร 0 3731 222
2.จดหมายหรือเอกสารร้องเรียนถึง ศูนย์ร้องเรียน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครนายก ถนนศรีเมือง ตำบลเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก 26000 โทร 0 3731 222
3.ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : muang_pbh@hotmail.com
4.ทางเว็ปไซต์สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครนายก :
web site // www.nayok.moph.go.th